9 วิธีแรงบันดาลใจในการทำอาชีพพยาบาล

 

       ด้วยสถานการณ์ทั่วโลกที่ประสบปัญหาการขาดแคลนพยาบาล ทำให้ต้องผลิตพยาบาลเพิ่มขึ้น เนื่องจากวิชาชีพนี้เป็นหนึ่งในทีมสุขภาพ ที่ดูแลทั้งคนสุขภาพดีและคนเจ็บป่วย สาเหตุการขาดแคลนคือ การลาออกจากความเหนื่อยล้า และภาระงานที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งพบว่าการลาออกไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อเข้าทำงานแล้วเท่านั้น หากแต่เกิดขึ้นขณะกำลังศึกษาหลักสูตรพยาบาล เมื่อมีการฝึกปฏิบัติการพยาบาลในคลินิก ทั้งช่วงปีที่ 2, 3 และก่อนสำเร็จการศึกษา จากการขาดความรู้แต่ละด้านทางการพยาบาล การต้องเผชิญกับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่ทำให้รู้สึกว่าเป็นความยากลำบาก เกิดความเครียด ส่งผลให้สถาบันการศึกษาต้องเสียเวลาและทรัพยากรในการผลิตโดยสูญเปล่า รวมทั้งรัฐบาลต้องสูญงบประมาณจำนวนมากในการผลิตพยาบาล จากต้นทุนค่าใช้จ่ายต่อคนในการศึกษาหลักสูตรนี้ประมาณ 100,700 บาท/คน/ปี 


        ดังนั้นการสร้างแรงบันดาลใจ อาจทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จทั้งตอนเรียนและทำงานพยาบาล ดร.วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์ นักส่งเสริมสุขภาพจิตด้วยสหศาสตร์ ให้นิยามแรงบันดาลใจ คือ พลังทางความคิด พลังทางอารมณ์และความรู้สึก อันเนื่องจากแรงบันดาลใจเป็นนามธรรมในตัวเรา ที่จะส่งผลให้ลงมือกระทำการใดๆอย่างสม่ำเสมอและมุ่งมั่น ฝันฝ่าจนประสบความสำเร็จ โดยผ่านการฝึกวิธีคิด วิธีสร้างอารมณ์ความรู้สึก เกิดเป็นแรงบันดาลใจหรือพลังูมิใจสใจให้ลงมือทำได้อย่างสม่ำเสมอโดยไม่หยุดยั้ง อาจมีความย่อท้อต่ออุปสรรคบ้าง แต่พลังภายในจิตใจนั้นยังส่งผลขับเคลื่อนให้ลงมือทำในสิ่งที่สัมพันธ์กับเป้าหมายที่ตนเองวางไว้


       ผู้เขียน ขอประยุกต์วิธีการสร้างแรงบันดาลใจนี้ ให้กับบุคคลที่ต้องการเลือกศึกษาและทำงานด้านวิชาชีพพยาบาล ดังนี้


1 เลือกเรียนพยาบาล เพราะความชื่นชอบ และอยากเป็นพยาบาล ซึ่งการเลือกจากสิ่งที่รักและชื่นชอบถือเป็นหัวใจสำคัญพื้นฐานที่จะทำให้คนเรามีความชื่นชมยินดีในสิ่งที่เราเลือกเรียนและทำงาน จากการเห็นคุณค่าในสิ่งนั้น ทำให้เราเรียนและทำงานได้อย่างอิ่มเอมใจ มีความสุข แม้พบปัญหาใดๆ ก็มีพลังใจและมองก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆได้ ดังเช่น ก่อนเรียนจบมัธยมศึกษาตอนปลาย ลองเข้าไปดูหรือศึกษาการทำงานของพยาบาล ว่าลักษณะงานเป็นอย่างไร เพื่อให้รู้ว่าเราชอบหรือไม่ชอบลักษณะงานดังกล่าว 

2. สร้างทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพพยาบาล รักและเห็นคุณค่าในในการเรียนและทำงานพยาบาล เพราะมีหลายคนที่เลือกจากความไม่รู้ว่าตนเองรักหรือชอบสิ่งที่เลือกหรือไม่ บางคนเลือกเพราะคนในครอบครัว บางคนเลือกเพราะตามเพื่อน จนอาจทำให้เกิดความย่อท้อเมื่อพบอุปสรรค และตัดสินใจลาออกระหว่างเรียนหรืออดทนทำงานต่อไม่ไหว ดังนั้นการสร้างทัศนคติที่ดี เช่นเป็นอาชีพที่ดี มีความมั่นคง ได้ช่วยเหลือคนอื่นและดูแลครอบครัวได้ เป็นอาชีพที่มีเกียรติ ถ้าเลือกทำสิ่งที่เรามองเห็นคุณค่าและมีความหมายที่ดีงามในงานนั้นๆ ก็จะเกิดความสุขและเห็นคุณค่าในงานพยาบาล เช่น งานพยาบาลเป็นอาชีพที่ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ช่วยดูแลทั้งกายและใจ ให้ผู้ที่เจ็บป่วยหรือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ เมื่อเราได้เห็นคนเจ็บป่วยนั้นดีขึ้น เราจะรู้สึกภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเหลือ แนะนำด้วยความรักและเมตตากับเพื่อนมนุษย์

3. ใส่ใจที่ผลลัพธ์จากการทำงาน คือผลตอบแทนที่จะได้รับจากการทำงาน เช่น รายได้ สวัสดิการเพื่อการดำรงชีพ ความมั่งคง ในอาชีพพยาบาล การได้รับการตอบสนองขั้นพื้นฐานเพื่อความมั่นคงปลอดภัยของชีวิต เป็นสิ่งที่ช่วยจูงใจ ให้เราทุ่มเทกับการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งงานพยาบาลมีทั้งรายได้ สวัสดิการ และมีความมั่นคง มีโอกาสก้าวหน้าในวิชาชีพได้หลายๆ ทาง ทั้งงานรพ. งานคลินิก งานพยาบาลห้องพยาบาลในโรงงานหรือบริษัท งานในบริษัทประกันหรือเครื่องมือการแพทย์ งานเขียนบทความ และงานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ อื่นๆ อีกมากมาย

4. ทำงานด้วยแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์(achivement) คือ การตั้งเป้าหมายในการทำงานนั้นๆ ให้สำเร็จและได้มาตรฐาน โดยใช้ความคิด อารมณ์และความรู้สึกที่เป็นแรงจูงใจจากภายใน มากกว่าสิ่งตอบแทนที่เป็นสินรางวัล เพราะเมื่อประสบความสำเร็จครั้งแล้วครั้งเล่าก็จะจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ให้บุคคลอยากทำงานและพัฒนางานนั้นให้ดียิ่งๆขึ้น เช่น การคิดค้นนวัตกรรมในการทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหา และสามารถต่อยอดกระจายความรู้สู่หน่วยงานอื่นๆได้ เพื่อประโยชน์แก่ผู้ป่วย

5. ความภาคภูมิใจในผลลัพธ์(outcome) ของงาน งานพยาบาล เป็นงานที่เสียสละ และเข้าอกเข้าใจคนไข้มากไม่น้อยกว่าวิชาชีพอื่นๆ เป็นหนึ่งในสายสุขภาพที่ผู้ป่วยให้ความไว้ใจและหวังเป็นที่พึ่ง ดังนั้นเราจะช่วยบรรเทาความเจ็บป่วยได้ทั้งทางกายและใจ ให้กับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

6. ตั้งเป้าหมายชัดเจน ตอนเรียน ก็ต้องบอกกับตัวเองว่าต้องเรียนให้จบ และต้องเป็นพยาบาลว่าจะทำสิ่งต่างๆ เพื่อสิ่งใด เพราะการกำหนดเป้าหมายนั้น จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ลงมือทำงานได้เป็นอย่างดีและสม่ำเสมอจนกระทั่งประสบความสำเร็จในที่สุด เช่น พยาบาลหลายคนทำเพื่อคนที่รัก พ่อแม่ ลูก ต้องการสร้างบ้าน สร้างครอบครัวให้มั่นคง  สร้างอาชีพเพิ่มเติมเพื่อเป็นธุรกิจเป็นของตนเอง สร้างที่ดินทำกิน เป็นต้น การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ถือเป็นแรงบันดาลที่ดีที่จะทำให้ทุกคนประสบความสำเร็จ

7. มีบุคคลต้นแบบที่ดี เช่น พยาบาลมิสฟลอเรนซ์ในติ่งเกล หรือรุ่นพี่พยาบาล ครูอาจารย์พยาบาล สำคัญมากในช่วงเรียนปีที่ 2 เพราะมีการฝึกปฏิบัติงานบนคลินิก ผู้เรียนอาจรู้สึกถึงความยากลำบาก ความไม่เข้าใจ จากการมีผู้ป่วยที่เจ็บป่วยหลากหลายโรค และช่วงอายุ ดังนั้นการมีครูที่เป็นต้นแบบ หรือพี่พยาบาลที่ตนเองชื่นชม จะทำให้เราเกิดแรงบันดาลใจ มีความตั้งใจทุ่มเทมุ่งมั่นและอยากประสบความสำเร็จเฉกเช่นเดียวกับบุคคลต้นแบบนั้นๆ และในยามที่หมดกำลังใจ ท้อแท้กับปัญหาที่เจอจากผู้ป่วย จากการทำงาน จากเพื่อนร่วม หรืออื่นๆ เราจะได้มีกำลังใจในการทำงานต่อไป

8. เปิดโอกาสให้ตนเองเรียนรู้และดูงานอย่างกว้างขวาง เนื่องจากอาชีพพยาบาล เป็นอาชีพที่ต้องอัปเดตความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองและออกไปศึกษาดูงานที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอจะช่วยสร้างความคิดและความรู้สึก “ฮึดสู้” จนเกิดแรงบันดาลใจอยากทำสิ่งใหม่ๆให้เกิดขึ้นในงานของตนได้เป็นอย่างดี  เช่นการคิดค้นนวัตกรรม การประยุกต์สิ่งใหม่ๆ มาใช้ในงานที่ทำ การศึกษางานวิจัย ที่อาจทำให้เราได้ต่อยอดความรู้นั้น จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจแก่เราให้อยากพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น

9.สร้างบรรยากาศแห่งการชื่นชมยินดีในที่ทำงาน เพื่อสร้างแรงจูงใจและแรงบันดาลใจให้แก่กันและกันยิ่งขึ้น ช่วยสร้างความรู้สึกด้านดีในการการทำงาน โดยบอกกล่าวสิ่งที่กระทำดี พร้อมกล่าวชื่นชมอย่างจริงใจ ทั้งทางคำพูด สายตา การสัมผัส การตบมือ หรือรอยยิ้มที่จริงใจ เป็นต้น

               สิ่งสำคัญทั้งในการเรียนและการทำงานพยาบาลวิชาชีพ ก็คือ การสร้างแรงจูงใจหรือแรงบันดาลใจให้ตนเอง ให้มีกำลังใจ ต้องอย่าท้อ สู้ หมั่นสร้างกำลังใจให้กับตัวเองเสมอ ๆ นะคะ ไม่ว่าคุณจะเจอการสถานการณ์ใดๆ ให้มองบุคคลต้นแบบที่คุณชื่นชมและเป็บแบบอย่าง ตั้งมั่นว่าสักวันคุณจะเก่ง และเป็นต้นแบบให้ใครอีกหลายๆ คน 

 

เอกสารอ้างอิง

1. ดร. วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์. 2562. การสร้างแรงบันดาลใจในการทำงาน . [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา. http://www.mentalhealth-fsp.org/2203  (31 สิงหาคม 2564)
2. ศิราณี เก็จกรแก้ว. 2561. การศึกษากระบวนการสร้างแรงจูงใจในการเป็นพยาบาลวิชาชีพของนักศึกษาพยาบาลโดยการใช้การวิจัยเชิงทฤษฎีพื้นฐาน.รามาธิบดีพยาบาลสาร. ปีที่ 24 ฉบับที่ 3 พฤศจิกายน - ธันวาคม. หน้า 249 - 263.
3. JobCute. 2562. แนวคิดดี ๆ กับทัศนคติ และแรงบันดาลใจในการทำงาน. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา.https://cutt.ly/UEt3UvU (31 สิงหาคม 2564)