สัมภาษณ์งานพยาบาลอย่างไร ให้เป๊ะปัง

 
คำถามสัมภาษณ์งานสุดฮิต ตอบยังไง ให้ได้งานทำ
 
       “ เล่าเรื่องเกี่ยวกับตัวคุณให้ฟังหน่อย ข้อดี - ข้อเสียของคุณคืออะไร ”
 
       “ ทำไมคุณถึงลาออกจาก รพ. เก่า”
 
       “ คุณทราบอะไรเกี่ยวกับ รพ. ของเราบ้าง ”
 
คำถามพวกนี้ เป็นคำถามที่เลี่ยงไม่ดี ที่เราทุกคนน่าจะเคยเจอตอนสัมภาษณ์งานเป็นแน่ และเนื่องจากสถานการณ์โควิด การสัมภาษณ์ ณ ตอนนี้มักจะเป็นการนัดสัมภาษณ์ทางช่องทางการสื่อสารต่างๆ แทนการเรียกมาสัมภาษณ์ ตัวเป็นๆ
วันนี้แอดมิน มีเทคนิคดีๆๆในการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ หรือทาง VDO Call หรือสัมภาษณ์ผ่านทาง Application ต่างๆๆมาให้ค่ะ
 
 
 
“ 10 เทคนิค สำหรับสัมภาษณ์งานทางโทรศัพท์ อย่างมืออาชีพ ”
        นอกเหนือจากการซักซ้อมเพื่อลองตอบคำถามแล้ว การเตรียมตัวก่อนสัมภาษณ์งานทางโทรศัพท์ก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน เพราะหากคุณเตรียมคำตอบไว้อย่างดี แต่เมื่อถึงเวลารับสายเพื่อสัมภาษณ์งาน กลับไม่สามารถสื่อสารออกไปได้อย่างที่คาดหวัง ก็ย่อมมีผลกระทบต่อการสัมภาษณ์ได้ เทคนิคต่อไปนี้จะช่วยให้คุณมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น
 
1. ตั้งสติ และซ้อมพูดออกเสียง
 
การมีสติจะช่วยให้คุณใจเย็น ไม่ร้อนรน คิดอย่างรอบคอบก่อนตอบคำถามต่างๆ ได้อย่างราบรื่น ทางที่ดีควรดื่มน้ำและซ้อมพูดออกเสียง เพื่อช่วยลดความตื่นเต้นเมื่อถึงเวลาสัมภาษณ์จริง
 
2. เตรียมเรซูเม่ไว้ข้างตัว
 
วิธีนี้จะช่วยให้คุณสามารถเล่าประสบการณ์ทำงานให้ผู้สัมภาษณ์ฟังอย่างไม่ติดขัด ไม่ต้องเสียเวลานึกนาน ไม่ลืมรายละเอียด ซึ่งจะช่วยให้การตอบคำถามมีความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น
 
3. หาสถานที่ที่ไม่มีเสียงรบกวน
 
แม้จะเตรียมคำตอบไว้ดีแค่ไหน แต่หากสถานที่สำหรับใช้สัมภาษณ์งานทางโทรศัพท์มีเสียงดังรบกวน ก็อาจทำให้การพูดคุยไม่น่าประทับใจ หรือส่งผลให้การสื่อสารมีความคลาดเคลื่อน
 
4. พูดชัดถ้อยชัดคำ แสดงความมั่นใจ
 
น้ำเสียงที่สุภาพ เรียบเรียงประโยคได้เข้าใจง่าย พูดชัดถ้อยชัดคำ เป็นการแสดงความมั่นใจในสิ่งที่พูด ส่งผลดีต่อบุคลิกภาพและความสามารถในการสื่อสาร แม้จะไม่ได้พบหน้ากันก็ตาม
 
5. เลือกใช้ระดับภาษาให้เหมาะสม
 
ไม่ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์ภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ควรเลือกระดับภาษาให้เหมาะสม เป็นทางการ แต่ก็ไม่เคร่งเครียดจนเกินไป และไม่ควรพูดแบบทีเล่นทีจริงจนหมดความน่าเชื่อถือ
 
 
6. ไม่แสดงทัศนคติที่ไม่ดีต่อที่ทำงานเก่า
 
แม้ว่าบางครั้งคุณอาจมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายเก่า แต่ห้ามนำมาพูดในการสัมภาษณ์งานอย่างเด็ดขาด นอกจากจะไม่มีความเป็นมืออาชีพแล้ว ยังทำให้คะแนนคุณติดลบอีกด้วย
 
7. พูดความจริง ไม่สร้างเรื่องโกหก
 
ไม่ควรพูดโกหก ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลส่วนตัว ประวัติการศึกษา ประสบการณ์ทำงาน เนื่องจาก HR สามารถแบล็กลิสต์คุณได้ หากสืบพบว่าคุณได้ให้ข้อมูลที่เป็นเท็จต่อการสมัครงาน
 
8. เป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด
 
การตอบคำถามแบบเป็นตัวของตัวเอง จะช่วยให้คุณผ่อนคลาย และทำให้ทั้งฝ่ายคุณและผู้สัมภาษณ์ประเมินร่วมกันได้ ว่าคุณเหมาะกับการทำงานในตำแหน่งที่สมัครไว้หรือไม่
 
9. เตรียมคำถามที่สงสัยไว้ถาม
 
เมื่อใกล้จะสิ้นสุดการให้สัมภาษณ์ ทางฝ่าย HR มักจะเปิดโอกาสให้คุณถามคำถาม คุณควรเตรียมคำถามไว้เพื่อแสดงถึงความกระตือรือร้น เช่น ถามถึงความก้าวหน้าในตำแหน่ง ถามถึงสวัสดิการบริษัท ฯลฯ
 
10. กล่าวขอบคุณผู้สัมภาษณ์
 
สุดท้ายเมื่อสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์เสร็จสิ้นแล้ว ควรกล่าวขอบคุณผู้สัมภาษณ์ที่มอบโอกาสให้ได้พูดคุย นอกจากแสดงถึงมารยาทที่ดีแล้ว ยังสร้างความประทับใจให้แก่ผู้สัมภาษณ์อีกด้วย
 
*******************************************************************************
 

แอดมินมาดูตัวอย่าง Do & Don't กันบ้างนะคะ

 
1. ช่วยเล่าเกี่ยวกับตัวคุณให้เราฟัง
 
Do : ใช้เวลาเพียง 2-3 นาทีสั้นๆ แบบกระชับได้ใจความ บอกเหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงเป็นผู้สมัครที่ดีที่สุดสำหรับตำแหน่งนี้ รวมถึงยกตัวอย่างให้ฟังเพื่อช่วยอธิบายและเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเรา เช่น "หลังจากเรียนจบด้านบัญชีและทำงานที่บริษัทตรวจสอบบัญชีมา 5 ปี ทำให้เป็นคนทำงานเร็วและละเอียดรอบคอบ เพราะการตรวจสอบบัญชีแต่ละครั้งมีระยะเวลากำหนดชัดเจนว่ากี่วันหรือกี่ สัปดาห์ ทั้งยังฝึกความเป็นผู้นำ เพราะต้องดูแลน้องในทีมที่ออกตรวจงานด้วยกัน รวมถึงแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี สิ่งเหล่านี้ทำให้ดิฉันได้รับมอบหมายดูแลงานโปรเจคใหญ่ๆ อยู่เสมอ"
 
Don't : การเล่าทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับตัวเอง ตั้งแต่จบประถม มัธยม เข้ามหาลัย จนทำงาน แต่ไม่มีจุดเด่นอะไรเพียงพอที่จะทำให้ผู้สัมภาษณ์รู้สึกสนใจในตัวคุณ
 
2. ทำไมคุณถึงคิดว่าเหมาะกับงานนี้
 
Do : โอกาสมาถึงแล้ว อย่ากลัวที่จะพูด อาจจะเริ่มจากประสบการณ์และความสามารถที่เคยผ่านมา อันเป็นสาเหตุทำให้คุณเหมาะสมที่สุดสำหรับตำแหน่งนี้ แล้วต่อด้วยเหตุผล ตัวอย่าง กรณีศึกษา สิ่งที่เป็นจุดเด่นและแตกต่างจากผู้สมัครคนอื่น
กรณีที่เพิ่งจบการศึกษาหมาดๆ ถ้าสมัยเรียนทำกิจกรรมมาเยอะ เช่น ออกค่าย ฝึกงาน โครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน ฯลฯ อย่าลังเลที่จะบอกเล่าว่ากิจกรรมเหล่านั้น ทำให้ตัวเองเป็นคนที่เข้ากับคนอื่นง่าย รู้จักปรับตัว ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น และเรียนรู้เร็ว เป็นต้น หากตกที่นั่งเด็กเรียน ไม่ค่อยสนใจกิจกรรม ให้ตอบว่าเป็นคนที่ทุ่มเทกับเรื่องที่ได้รับผิดชอบ เช่น เรื่องเรียนหรือรายงานกลุ่ม อาจยกเกรดเฉลี่ยเลขสวยๆ มาเป็นตัวอย่าง หรือวิธีการเลือกวิชาเรียน ที่แสดงให้เห็นว่ามีการเตรียมตัว วางแผนการเรียนมาเป็นอย่างดี
 
Don't : การตอบคำถามสั้นๆ เช่น "ด้วยประสบการณ์ทำงาน 2 ปีที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าสามารถทำงานนี้ได้" แล้วจบทันที ในกรณีนี้ คุณอาจจบเห่ เพราะไม่มีเหตุผลและตัวอย่างที่จะทำให้ผู้สัมภาษณ์เชื่อและมั่นใจในตัวคุณ
 
3. ตามความเข้าใจของคุณ คิดว่าตำแหน่งนี้ต้องรับผิดชอบงานอะไรบ้าง
 
Do : ทำการบ้านก่อนมาสัมภาษณ์ด้วยการอ่านรายละเอียดของงานและคุณสมบัติของผู้ สมัครที่ทางบริษัทต้องการ ทำความเข้าใจกับมัน ตอบให้สั้นและกระชับใจความ สิ่งสำคัญก่อนตอบต้องมั่นใจว่าเข้าใจ ถ้าไม่แน่ใจส่วนไหนไม่ต้องกลัวที่จะถาม อาจตั้งคำถามกลับในทำนองว่า เข้าใจตำแหน่งงาน แต่ไม่แน่ใจเกี่ยวกับข้อมูลกลุ่มลูกค้า และผลิตภัณฑ์มากนัก อยากให้ช่วยอธิบายให้เข้าใจในเบื้องต้น
 
Don't : ถ้าไม่รู้ อย่าพยายามตอบ เพราะถ้าตอบผิด นั่นหมายความว่าคุณไม่ได้ทำการบ้านมา ไม่ได้ให้ความสนใจกับงานนี้ แถมยังมั่วอีกต่างหาก
 
4. คุณรู้อะไรเกี่ยวกับบริษัทเราบ้าง
 
Do : ก่อนมาสัมภาษณ์งาน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทราบและเข้าใจข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับองค์กรที่สมัคร เช่น ผลิตภัณฑ์ กลุ่มลูกค้า คู่แข่ง ภาพลักษณ์องค์กร ที่มาและประวัติขององค์กร ฯลฯ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า คุณได้ทำการบ้านมา และให้ความสนใจกับองค์กรอย่างแท้จริง อย่าลืมย้ำตอนท้ายด้วยว่า หลังจากที่ศึกษาเกี่ยวกับองค์กร ทำให้เรามีความสนใจที่อยากจะทราบเกี่ยวกับองค์กรเพิ่มเติม
 
Don't :การตอบแบบมั่นใจในตัวเองจนเกินไป หรือคำตอบที่สร้างภาพพจน์ไม่ดีให้กับตัวเอง เช่น "ทราบมาว่าที่นี่กำลังขาดผู้จัดการฝ่ายการตลาด ด้วยประสบการณ์งาน 3 ปีในด้านนี้ ทำให้คิดว่าสามารถแก้ปัญหานี้ได้" คำตอบอย่างนี้นอกจากไม่สร้างทัศนคติที่ดีขององค์กรให้กับตัวเองแล้ว ยังเป็นการโอ้อวดตัวเองเกินไป
 
5. อะไรคือจุดมุ่งหมายระยะยาวในการทำงานของคุณ
 
Do :พูดถึงสิ่งที่อยากทำในอนาคต และต้องบอกวิธีที่จะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ ซึ่งควรจะเกี่ยวข้องกับงานที่สัมภาษณ์อยู่ เช่น อีก 5 ปีข้างหน้าอยากเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดที่เต็มไปด้วยศักยภาพและความสามารถ ในการพัฒนาพนักงานและองค์กรให้มีประสิทธิภาพ การที่จะถึงจุดนั้นได้ต้องมีการเตรียมตัวเป็นอย่างดี เช่น การได้มีโอกาสทำงานที่บริษัทนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งในการเตรียมตัวสำหรับอนาคต และอาจเพิ่มเติมตัวอย่าง เช่น วิธีการทำงานของตน เป็นต้น
 
Don't : การตอบในสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานที่สมัครอยู่ (ถึงแม้จะเป็นความจริง) เพราะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ เช่น อยากเปิดร้านอาหารในอีก 10 ปีข้างหน้า ถ้าตอบเช่นนั้น อาจโดนถามต่อว่าแล้วมาสมัครงานที่นี่ทำไม
 
6. ถ้าได้งานนี้ คุณคิดว่าจะทำงานที่นี่นานเท่าไหร่
 
Do : ให้มุ่งประเด็นไปที่ความทุ่มเทของตัวเองและความท้าทายของงาน ด้วยการบอกว่าตราบใดที่งานมีความยากและท้าทาย ก็จะขอจะทุ่มเทความสามารถของตัวเองให้เต็มที่เพื่อสร้างคุณประโยชน์ให้กับ องค์กร
 
Don't : บอกแผนการหรือระยะเวลา (ซึ่งเป็นความจริง) เช่น มีแผนไปเรียนต่ออีก 2-3 ปีข้างหน้า หรือ ทางบ้านมีแผนให้ไปช่วยธุรกิจที่บ้าน
 
7. อะไรคือจุดอ่อนของคุณ
 
Do :ควรเลือกจุดอ่อนที่เป็นความจริงและกำลังปรับปรุงหรือพัฒนาในขณะนี้ ที่สำคัญควรบอกผลลัพธ์หลังการปรับปรุงด้วย เช่น ภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง ซึ่งตอนนี้กำลังเรียนภาษาอังกฤษอยู่ เรียนมานานเท่าไหร่ ที่ไหน และผลการเรียนเป็นอย่างไรบ้าง
 
Don't : มีหลายคนเคยบอกว่าให้เปลี่ยนจุดแข็งให้เป็นจุดอ่อน เช่น เป็นคนทำงานหนักมากๆ ไม่เสร็จไม่กลับ อาจจะฟังดูดี แต่คุณกำลังทำลายตัวเอง เพราะปัจจุบันนี้การรู้จักจัดสรรเวลา (work life balance) เป็นประเด็นสำคัญของคุณภาพชีวิต อีกอย่างคุณกำลังโกหกเพื่อให้ดูดี แถมตอบผิดประเด็นอีกต่างหาก
 
8. ทำไมคุณถึงลาออกจากงานเก่า
 
 
Do : ตอบความจริงให้มากที่สุด แต่สั้นกระชับใจความ ไม่จำเป็นต้องตอบทั้งหมดถ้าความจริงมันเลวร้ายเหลือเกิน อย่าลืมว่าผู้สัมภาษณ์อาจขออนุญาตติดต่อบุคคลอ้างอิงเพื่อทำการตรวจสอบ ข้อมูลเหล่านั้น
 
Don't : ควรหลีกเลี่ยงการวิจารณ์ที่ทำงานและนายเก่า เพราะเหล่านี้จะทำให้ภาพลักษณ์ของคุณดูแย่ และนั่นหมายถึงความกล้าที่จะวิจารณ์บริษัทต่อๆ ไปที่คุณร่วมงานด้วย
 
9. อะไรคือสิ่งที่คุณชอบและไม่ชอบในงานเก่า (หรืองานที่กำลังทำอยู่)
 
Do : ควรบอกสิ่งที่ชอบมากกว่าสิ่งที่ไม่ชอบ และให้คำอธิบายรวมถึงเหตุผลว่าทำไมเราจึงคิดเช่นนั้น
 
Don't : บอกในสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องงานหรืออ้างอิงถึงบุคคล เพราะนั่นหมายถึงคุณกำลังวิจารณ์คนอื่น ไม่จำเป็นต้องเล่าทุกอย่างที่แย่ๆ เกี่ยวกับงาน เพราะไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา
 
10. อะไรคือสิ่งที่คุณประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิต
 
Do : ควรจะเป็นเรื่องที่รู้สึกภูมิใจที่สุดในช่วง 1-2 ปีของการทำงาน คุณอาจพูดถึงการเลื่อนขั้น ปรับตำแหน่งในการทำงาน หรือตลอดระยะเวลาที่ทำงานมามีแต่ความราบรื่นไม่เคยมีปัญหากับลูกค้า หากคุณมีความสำเร็จชัดเจน เช่น สามารถทำยอดการขายได้ทะลุเป้า 200% หรือ สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ 25% ให้เล่าที่มาของเรื่องนั้น วิธี แนวดำเนินการ ผลลัพธ์ ตลอดจนอุปสรรคที่เกิดขึ้น รวมถึงวิธี
การแก้ปัญหา ถ้าเป็นผู้สมัครที่เพิ่งจบการศึกษาหมาดๆ อาจจะพูดถึงเกรดเฉลี่ย หรือความภาคภูมิใจที่สามารถสอบเข้ามหาลัยที่มีชื่อเสียงได้
 
Don't : การแต่งเรื่องขึ้นเองหรือพูดเกินจริงกว่าสิ่งที่ได้ทำ ส่งผลให้วิธีการเล่าแตกต่างไป ซึ่งผู้สัมภาษณ์ที่มีความเชี่ยวชาญ จะสามารถตั้งคำถามต้อนจนจับได้ว่าเป็นเรื่องที่แต่งขึ้น
 
 
แวะมาทักทายแอดมินกันได้ที่ https://www.facebook.com/Wearenursejob หางานโรงพยาบาล by Wearenurse หรือ
 
กดทักแชตมาเม้ามอยด์ได้เลยจ้า m.me/Wearenursejob
 
 
แหล่งที่มาของข้อมูล
 
https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2011129
 
https://campus.campus-star.com/jobs/33608.html